วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) และมาตรฐาน

เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับผู้คนเกือบส่วนใหญ่ทั่วโลกในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของการสื่อสารไร้สายพลิกโฉมหน้าจากยุคแรกเริ่มในอดีตซึ่งเป็นเพียงทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่มีฐานะการเงิน ในการหาซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีราคาแพง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารขณะอยู่นอกบ้านหรือสำนักงาน มาเป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้คนทั่วไปที่มีราคาไม่แพงทั้งในส่วนของตัวเครื่องลูกข่ายและราคาค่าใช้บริการ โดยยังคงมีฐานะในการให้บริการสื่อสารสนทนา (Voice Communication) เป็นสำคัญ เทคโนโลยีมีการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อนำเสนอทางเลือกในการสื่อสารข้อมูล (Data Communication) ซึ่งค่อยๆ ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการ จนถึงปัจจุบันในยุคที่การสื่อสารข้อมูลแบบบรอดแบนด์ (Broadband Communication) ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์กับโครงข่ายสื่อสารแบบมีสายด้วยอัตราเร็วในการสื่อสารข้อมูลระดับเมกะบิตต่อวินาทีกลายเป็นเรื่องปกติที่มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายไม่มากนัก แรงผลักดันของการสื่อสารแบบบรอดแบนด์ผ่านอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ส่งผลให้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้น ทั้งในส่วนของระบบเครือข่ายและอุปกรณ์เครื่องลูกข่าย รวมถึงบรรดาแอพพลิเคชั่นใช้งานต่างๆ



เทคโนโลยี WCDMA (Wideband Code Division Multiple Access) ซึ่งรองรับการสื่อสารข้อมูลไร้สายด้วยอัตราเร็ว 384 กิโลบิตต่อวินาที มาเป็นเทคโนโลยี HSPA (High Speed Packet Access) ซึ่งสามารถรองรับการสื่อสารด้วยอัตราเร็วสูงสุดถึง 42 เมกะบิตต่อวินาที และเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) ที่ได้รับการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคเพื่อรองรับการสื่อสารด้วยอัตราเร็วกว่า 100 เมกะบิตต่อวินาที
จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์โทรศัพท์เคลื่อนที่
จุดเริ่มต้นของการใช้ประโยชน์จากคลื่นวิทยุมาเป็นตัวกลางสำหรับการติดต่อสื่อสาร เพื่อประโยชน์ในวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหน่วยงาน FCC (Federal Communications Commission) ของสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้บริษัทเอทีแอนด์ทีให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบติดตั้งในรถยนต์ในปี พ.ศ. 2489 แนวคิดของการออกแบบเครือข่ายในยุคนั้นเป็นไปอย่างง่ายๆ ด้วยการตั้งสถานีฐานเพื่อใช้รับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุกับเครื่องลูกข่าย (Terminal) ที่อยู่ในรถยนต์ โดยสถานีฐานส่งคลื่นวิทยุด้วยกำลังส่งสูง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเมือง อันมีผลให้เครื่องลูกข่ายจำเป็นต้องกินไฟมาก เพื่อรับประกันว่าจะมีกำลังส่งกลับมายังสถานีฐานได้ แต่ละเมืองก็จะมีสถานีฐานเพียงแห่งเดียว ต่อมาใน พ.ศ. 2490 บริษัทเอทีแอนด์ทีจึงได้ทำการคิดค้นเทคนิคการนำความถี่วิทยุมาใช้งานซ้ำ (Frequency Reuse) โดยเป็นการออกแบบให้สถานีฐานที่อยู่ห่างไกลกันจนหมดโอกาสที่คลื่นวิทยุจะรบกวนกันเองสามารถนำความถี่ที่ถูกจัดสรรไปแล้วมาใช้งานใหม่ได้ ถือเป็นต้นแบบของปรัชญาการวางเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามด้วยสนนราคา ขนาดที่ใหญ่ และการ สิ้นเปลืองกระแสไฟของเครื่องลูกข่าย แม้จะมีการนำเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคเริ่มต้นนี้ไปใช้งานในเมืองต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนับจากนั้นมาอีกถึงกว่า 20 ปี แต่ปริมาณผู้ใช้บริการสื่อสารในลักษณะนี้ก็มีจำนวนรวมไม่มากนัก แนวโน้มการขยายตัวของตลาดผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มมีมากขึ้น พร้อมๆกับความพยายามของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งต้องการผลักดันให้มีมาตรฐานสากลสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการจัดตั้งองค์กรและหน่วยงานขึ้นเพื่อวางข้อกำหนดสากลที่เป็นมาตรฐานแน่นอน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 1 หรือ 1G เริ่มจากการประกาศมาตรฐาน NMT (Nordic Mobile Telephony) ในช่วง พ.ศ. 2524 เพื่อใช้เป็นมาตรฐานสำหรับกลุ่มประเทศนอร์ดิค (ประกอบด้วยประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก) ในขณะที่ฝั่งของสหรัฐอเมริกาก็มีการพัฒนามาตรฐาน AMPS (Advanced Mobile Phone Service) ขึ้นเพื่อใช้งานในทวีปอเมริกาเหนือ นอกจากนั้น ยังมีมาตรฐาน TACS (Total Access Communications Service) และ J-TACS (Japan-TACS) มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1G เหล่านี้ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อให้เป็นทางเลือกของการใช้งานโทรศัพท์พื้นฐาน โดยเน้นการสื่อสารขณะเคลื่อนที่เป็นสำคัญ และมุ่งรองรับการสนทนาเท่านั้น พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีใช้งานความวิทยุซ้ำ (Frequency Reuse) มาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีการเรียกชื่อเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่เหล่านี้ว่า “โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเซลลูล่าร์” เนื่องจากรูปแบบพื้นที่การแพร่กระจายคลื่นวิทยุมีลักษณะเป็นเหมือนเซลล์ย่อยๆ ที่เรียงต่อกันในลักษณะของรวงผึ้ง ในประเทศไทยเองเมื่อมีการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT โดยบริษัท TOT (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น) และ AMPS โดยบริษัท CAT Telecom (การสื่อสารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น) มาใช้งานตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ก็นิยมเรียกเทคโนโลยีชนิดนี้ว่า “โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรวงผึ้ง”
โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1G ได้สร้างกระแสความนิยมใช้งานอุปกรณ์สื่อสารไร้สายมากขึ้น แม้ตลาดผู้บริโภคจะมีการขยายตัว ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเพื่อลดขนาดตัวเครื่องลูกข่ายให้เล็กลงจากที่มีขนาดใหญ่เทอะทะและกินพลังงานมาก มาเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีขนาดเล็กลง แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคทั้งในแง่ของการมอดูเลตสัญญาณคลื่นวิทยุแบบอนาล็อกซึ่งไวต่อการถูกรบกวนจากสัญญาณรบกวนต่างๆ เสี่ยงต่อการถูกลักลอบดักฟัง อีกทั้งมักพบปัญหาคู่สายสนทนาหลุดในขณะเคลื่อนที่ นอกจากนั้นการจัดสรรและบริหารคลื่น
ความถี่วิทยุที่เป็นแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) ซึ่งกำหนดให้ช่องสัญญาณ (Channel) ที่ใช้ในการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุระหว่างสถานีฐานและเครื่องลูกข่ายแต่ละช่องใช้แถบความถี่ (Bandwidth) ตายตัวหนึ่งช่องความถี่ ทำให้การออกแบบอุปกรณ์ชุดรับส่งคลื่นความถี่วิทยุ (Transceiver Unit) เป็นไปโดยสิ้นเปลือง กล่าวคือหนึ่งอุปกรณ์รับส่งหนึ่งชุดรองรับการสื่อสารเพียง 1 ช่องความถี่ การติดตั้งอุปกรณ์รับส่งในสถานีฐานแต่ละแห่งจึงถูกจำกัดด้วยขนาดทางกายภาพของตู้อุปกรณ์สถานีฐาน อีกทั้งยังมีการใช้กระแสไฟฟ้ามาก ก่อให้เกิดภาระด้านต้นทุนที่ค่อนข้างสูงต่อผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ การพัฒนามาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 2 หรือ 2G โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ใช้บริการให้มากขึ้นด้วยใช้การมอดูเลตสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุในลักษณะดิจิตอล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 1G แล้วจะมีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้ใช้บริการที่มากกว่าต่อแถบความถี่ นอกจากนั้นการสื่อสารแบบดิจิตอลยังทำให้สามารถเข้ารหัสข้อมูล ทั้งเพื่อลดโอกาสเกิดการผิดพลาดของข้อมูลระหว่างการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ (Error Protection) และเพื่อป้องกันการลักลอบดักฟังข้อมูล (Ciphering) โดยผู้ไม่หวังดี นอกจากนั้นยังเป็นการเริ่มต้นยุคของการสื่อสารข้อมูลในลักษณะ Data C Long-Term Evolution (LTE) ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นมาตรฐานของโครงข่ายไร้สายในยุคหน้า ซึ่งบางทีถูกเรียกว่า 4G
สถาปัตยกรรมของ LTE
เทคโนโลยี LTE ซึ่งเป็นระบบสื่อสารไร้สายที่มีการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นและถูกกำหนดในมาตรฐานของ 3rd Generation Partnership Project (3GPP) Release 8 ซึ่งอันที่จริงแล้วเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่มีใช้กันอยู่ได้แก่ GSM, GPRS, EDGE หรือ 3G ที่มีการพูดถึงกันมากก็อยู่ภายใต้มาตรฐานนี้ด้วย (แต่ Release แตกต่างกันไป) โดยภายใต้มาตรฐาน 3GPP Release 8 นี้ก็พยายามกำหนดมาตรฐานเพื่อการอัพเกรดจาก 3G ไปสู่ 4G และโครงสร้างให้เป็นแบบไอพีทั้งหมดที่มีลำดับขั้นน้อยชั้น (All-IP flat architecture) นั้นเอง
ภาพรวมของ LTE นั้นมุ่งไปที่สองประเด็นหลักของความต้องการพื้นฐานหลักในระบบสื่อสารโทรคมนาคมก็คือความเร็วในการรับส่งข้อมูล และดีเลย์หรือค่าความหน่วงที่เกิดขึ้นในระบบ (latency) โดยมี ความเร็วอย่างน้อย 100Mbps (downlink) และ 50Mbps (uplink) ส่วนดีเลย์กำหนดให้มีค่าต่ำกว่า 10ms สำหรับแบนด์วิทธ์ก็เปิดกว้างเริ่มตั้งแต่ปริมาณน้อยๆ จนถึง 20MHz การที่กำหนดให้มีแบนด์วิทธ์แถบความถี่น้อยด้วยนั้นก็เพื่อเปิดไว้ให้กับบางพื้นที่ที่มีปริมาณไม่มาก แต่ถ้าเราต้องการประสิทธิภาพสูงๆ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องการทรัพยากรความถี่แถบกว้าง
จุดประสงค์หลักของ LTE ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ความถี่ (Spectral efficiency) เพื่อลดต้นทุนต่อบิตที่รับส่ง พัฒนาบริการใหม่ๆ โดยใช้คลื่นความถี่ย่านใหม่หรือย่านเดิมหลังจากการจัดสรรคลื่นความถี่ (Refarming)
ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี LTE

การพัฒนาเทคโนโลยี LTE ในประเทศญี่ปุ่น
- เคดีดีไอ (KDDI) โมบายโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น ประกาศจะวางโครงข่ายไร้สายยุคหน้า LTE โดยใช้โครงข่ายหลักจากผู้ผลิตญี่ปุ่นร่วมกับผู้ผลิตจากชาติโลกตะวันตก นับเป็นกลยุทธ์พันธมิตรระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอย่างชาญฉลาด โดยโครงข่าย LTE จะวางบนโครงข่ายปัจจุบันที่ใช้อยู่ภายใต้เทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ (CDMA) ด้วยโครงข่ายใหม่นี้จะส่งผลให้สามารถให้บริการมัลติมีเดียความเร็วสูงที่ต้องด้วยคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย สอดคล้องกับลูกค้าที่มีอยู่ในระบบของเคดีดีไอ กว่าสามสิบล้านราย ซึ่งรวมทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและกลุ่มธุรกิจ นอกจากระบบใหม่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ดีๆ จากการใช้งานโมบายบรอดแบนด์ของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาการดาวน์โหลดไฟล์เพลง วิดีโอ และบริการเพื่อความบันเทิงต่างๆ อาทิเช่น เกมออนไลน์ หรือบริการออนไลน์ ต่างๆ แบบไม่ยึดติดกับที่อีกต่อไป แล้ว ระบบยังช่วยลดต้นทุนบริการของเคดีดีไอ และยังสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องกับระบบ3Gภายใต้เทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ (CDMA) อีกด้วย
ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Challenge 2010” ทำให้เคดีดีไอ (KDDI) สามารถให้บริการที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยหลักการใหญ่ๆ สี่ประการด้วยกันคือ
High reliability ระบบที่มีความน่าเชื่อถือได้สูง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าประเภทใดก็ตามย่อมต้องการบริการที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กรด้วยแล้วเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
Convenience ให้บริการที่เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า เป็นประเด็นอันดับต้นๆ
ommunication ซึ่งเป็นบริการที่นอกเหนือไปจากการสื่อสารสนทนา (Voice Communication)
Service differentiation การสร้างบริการที่แตกต่างย่อมจะเป็นสิ่งจูงใจให้ลูกค้าเดิมอยู่ในระบบ และดึงลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการ แต่ในโลกของโทรคมนาคมแล้ว การสร้างบริการที่แตกต่างอย่างยั่งยืนอาจจะลำบากอยู่ซะหน่อย เนื่องจากเมื่อเราเปิดให้บริการเสริมใหม่ๆ และประสบความสำเร็จ เพียงไม่นานหลังจากนั้นก็จะมีสมัครพรรคพวกเปิดให้บริการตามกันมาติดๆ อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่เปิดบริการเป็นรายแรกๆ น่าจะได้รับประโยชน์ที่เรารู้จักกันว่า First-mover advantage
Customer satisfaction อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่าการได้มานั้นยาก แต่การรักษาไว้นั้นยิ่งยากยิ่งกว่า ฉันใดก็ฉันนั้น การให้บริการโทรคมนาคมการแย่งชิงลูกค้าให้มาใช้บริการกับเราภายใต้สภาวะการณ์แข่งขันที่รุนแรงเป็นเรื่องที่ท้าทายแล้ว การรักษาลูกค้าให้อยู่ในระบบเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าสำหรับผู้บริหารองค์กร ดังนั้นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้รับความสนใจอย่างมาก นอกจากบริการหลังการขายทั่วไปแล้ว จะต้องควบคุมตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถึงกึ๋น คือ ดูแลมากกว่าเพียงความสัมพันธ์ แต่เป็นการลงมาดูลึกถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ลูกค้าจะได้รับ
จะเห็นได้ว่า โอเปอเรเตอร์เบอร์สองนอกจากจะเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีแล้ว ด้านการตลาดและการขายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนต่างกันเลย ด้วยโครงข่ายที่ทันสมัยจะเป็นตัวเสริมให้ทั้งสี่ประการข้างต้นอย่างดีเยี่ยม การเลือกพาร์ทเนอร์ (partner) สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ในครั้งนี้ได้ใช้เหตุผลจากความเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยี ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเคดีดีไอ (KDDI) จะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดได้เร็ว (time to market advantage) การให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง (seamless) นับเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกผู้ผลิต โดยผู้ผลิตได้เคยทำการทดลองใช้งานข้ามโครงข่ายระหว่าง LTE กับซีดีเอ็มเอ (CDMA) ซึ่งเป็นโครงข่ายที่เคดีดีไอใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกันได้ของอุปกรณ์จากต่างผู้ผลิต (multi-vendor compatibility) เนื่องจากคงไม่มีโอเปอเรเตอร์รายไหนจะทิ้งโครงข่ายมูลค่ามหาศาลที่เคยลงทุนมาแล้วเปลี่ยนทั้งหมดไปเป็นโครงข่ายใหม่ของผู้ผลิตรายใหม่ทั้งหมด การเลือกผู้ผลิตในครั้งนี้ได้ตอบโจทย์สำคัญๆ ทางด้านเทคนิค ซึ่งนำมาซึ่งผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
- หัวเว่ย เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารโลกอนาคต LTE หรือ Long Term Evolution แก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลก โดยล่าสุดเปิดศูนย์ปฏิบัติการ LTE แห่งแรกในเอเชียแปซิฟิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ยังได้ประกาศความพร้อม หัวเว่ยสามารถให้บริการติดตั้งสถานีฐาน LTE eNodeB เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้เป็นครั้งแรกของโลกแล้ว เมื่อพ.ศ. 2549 ซึ่งศูนย์ LTE แห่งนี้จะใช้เป็นศูนย์ค้นคว้า พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยี LTE ก่อนจะนำไปติดตั้งให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมภายในศูนย์จะมีการจำลองสภาพภายนอกเหมือนจริง เพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่แม่นยำและนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราความเร็วในการดาวน์โหลดของการทดสอบอยู่ที่ 140 เมกกะบิตต่อวินาที นอกจากนี้ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน หัวเว่ย ได้ออกมาประกาศความพร้อม ขณะนี้สามารถให้บริการติดตั้งสถานีฐาน LTE eNodeB เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้แล้วเป็นครั้งแรกของโลก โดยสถานีฐาน LTE eNodeB สามารถรองรับอัตราการดาวน์โหลดได้ถึง 150 เมกกะบิตต่อวินาที ด้วยอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดนี้ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการ วิดีโอออนดีมานต์ที่มีความละเอียดสูง และการประชุมเสมือนจริง ด้วยโซลูชั่นการจัดการเครือข่ายได้ด้วยตนเองใน eNodeB ทำให้การปรับใช้เครือข่าย LTE เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงในการพัฒนาเครือข่ายในอนาคต
- โอเปอเรเตอร์มือถือเบอร์หนึ่งในญี่ปุ่นนาม เอ็นทีที โดโคโม (NTT DoCoMo)
ผู้นำของโดโคโม ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาระยะห่างกับเบอร์สองและสามให้มากที่สุด สิ่งที่โฟกัส ณ เวลานี้ก็คือการเปิดบริการเทคโนโลยี Beyond 3G ด้วย Long-Term Evolution (LTE) ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ จากที่เคยเป็นผู้นำด้านเว็บบนมือถือด้วยบริการที่รู้จักกันดีทั่วโลกชื่อ ไอ-โหมด (i-mode) มาในคราวนี้ก็ได้วางแผนเพื่อวางโครงข่ายและตระเตรียมเงินลงทุนก้อนโตสำหรับวางโครงข่ายใหม่นี้ในอีกห้าปีข้างหน้า ซึ่งคาดกันว่าจะสามารถสื่อสารข้อมูลได้รวดเร็วกว่าบริการ 3G ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันถึงสิบเท่า
เอกสารอ้างอิง
1.http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=C1F54CB608A82107BACA5CE9957D5D0F&sec=all&query=bG9uZyB0ZXJt
2.
http://en.wikipedia.org/wiki/3GPP_Long_Term_Evolution
3. http://www.ericsson.com/technology/whitepapers/lte_overview.pdf
4. http://its.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=406%3A--3gpp-lte--wimax&Itemid=57


Image processing เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ

การประมวลผลภาพ (Image Processing) หมายถึง การนำภาพมาประมวลผลหรือคิดคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เราต้องการทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ การทำให้ภาพมีความคมชัดมากขึ้น การกำจัดสัญญาณรบกวนออกจากภาพ การแบ่งส่วนของวัตถุที่เราสนใจออกมาจากภาพ เพื่อนำภาพวัตถุที่ได้ไปวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ขนาด รูปร่าง และทิศทางการเคลื่อนของวัตถุในภาพ จากนั้นเราสามารถนำข้อมูลเชิงปริมาณเหล่านี้ไปวิเคราะห์ และสร้างเป็นระบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ เช่น ระบบรู้จำลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบว่าภาพลายนิ้วมือที่มีอยู่นั้นเป็นของผู้ใด ระบบตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ระบบคัดแยกเกรดหรือคุณภาพของพืชผลทางการเกษตร ระบบอ่านรหัสไปรษณีย์อัตโนมัติ เพื่อคัดแยกปลายทางของจดหมายที่มีจำนวนมากในแต่ละวันโดยใช้ภาพถ่ายของรหัสไปรษณีย์ที่อยู่บนซอง ระบบเก็บข้อมูลรถที่เข้าและออกอาคารโดยใช้ภาพถ่ายของป้ายทะเบียนรถเพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ระบบดูแลและตรวจสอบสภาพการจราจรบนท้องถนนโดยการนับจำนวนรถบนท้องถนนในภาพถ่ายด้วยกล้องวงจรปิดในแต่ละช่วงเวลา ระบบรู้จำใบหน้าเพื่อเฝ้าระวังผู้ก่อการร้ายในอาคารสถานที่สำคัญ ๆ หรือในเขตคนเข้าเมือง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบเหล่านี้จำเป็นต้องมีการประมวลผลภาพจำนวนมาก และเป็นกระบวนการที่ต้องทำซ้ำ ๆ กันในรูปแบบเดิมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งงานในลักษณะเหล่านี้ หากให้มนุษย์วิเคราะห์เอง มักต้องใช้เวลามากและใช้แรงงานสูง อีกทั้งหากจำเป็นต้องวิเคราะห์ภาพเป็นจำนวนมาก ผู้วิเคราะห์ภาพเองอาจเกิดอาการล้า ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ดังนั้นคอมพิวเตอร์จึงมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เหล่านี้แทนมนุษย์ อีกทั้ง เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการคำนวณและประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันสั้น จึงมีประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลภาพและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากภาพในระบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น


การประชุมทางไกลผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรน ใช้เทคนิคการบีบอัดภาพ


การตรวจลายนิ้วมือโดยใช้ ระบบสแกนลายนิ้วมือ

ภาพถ่ายดาวเทียมใช้หลักการของการประมวลผลภาพ


งานทางหุ่นยนต์ ใช้ในการออกแบบหุ่นยนต์กู้ภัยค้นหาผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
นอกจากตัวอย่างระบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว งานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพเราอย่างมาก คือ งานวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ ก็จำเป็นต้องนำศาสตร์ทางด้านการประมวลผลภาพมาประยุกต์ใช้เช่นกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ หรือตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตัวอย่างการนำภาพถ่ายมาทำการวิเคราะห์ ใช้หลักการของการประมวลผลภาพให้ภาพคมชัดมากยิ่งขึ้นในการหาเชื้อแบตทีเรีย
ในปัจจุบัน เทคนิคการถ่ายภาพทางการแพทย์ ซึ่งทำให้แพทย์สามารถตรวจดูอวัยวะสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ภายในร่างกายได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ได้พัฒนาไปไกลมาก เริ่มจากเครื่องเอ็กซเรย์ (X-Ray) ซึ่งสามารถถ่ายภาพโครงสร้างกระดูกและอวัยวะบางอย่างเช่น ปอด ภายในร่างกายได้ ต่อมาได้มีการพัฒนาสร้างเครื่อง CT (Computed Tomography) ซึ่งสามารถจับภาพอวัยวะต่าง ๆ ในแนวระนาบตัดขวางได้ ทำให้เราเห็นข้อมูลภาพได้มากขึ้น


การใช้เครื่อง CT สแกนเพื่อตรวจหาความผิดปกติของมะเร็งเต้านม


อีกทั้งยังมีเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งใช้ถ่ายภาพส่วนที่เป็นเนื้อเยื้อที่ไม่ใช่กระดูก (soft tissues) ได้ดี ภาพ MRI นี้นอกจากจะให้ข้อมูลทางกายภาพแล้วยังให้ข้อมูลทางเคมีได้อีกด้วย เครื่อง MRI ยังสามารถถ่ายภาพอวัยวะที่ต้องการในระนาบต่าง ๆ ได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตำแหน่งของผู้ป่วย

หรือแม้กระทั่ง เทคนิคการถ่ายภาพด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซึ่งใช้ตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์มารดา หรือตรวจดูขนาดของ ตับ ม้าม ถุงน้ำดี และ ไต เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะเหล่านี้ ในปัจจุบันก็ยังมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยเทคนิคใหม่ ๆ ในการถ่ายภาพทางการแพทย์เหล่านี้ บวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานเครื่องถ่ายภาพเหล่านี้ ทำให้มีการถ่ายภาพทางการแพทย์เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย นั้นหมายความว่า ปัจจุบันมีภาพทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องนำมาประมวลผลเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะเกินกำลังที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์แต่ละคนมาวิเคราะห์ได้ในแต่ละวัน จึงมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีทางการประมวลผลภาพเข้าช่วย เนื่องจากภาพทางการแพทย์ต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาให้สามารถเก็บอยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้แล้ว ทำให้สะดวกในการจัดเก็บ รักษา และส่งข้อมูลภาพ และที่สำคัญเรายังสามารถวิเคราะห์ภาพเหล่านี้ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งในการถ่ายภาพเพื่อตรวจดูการทำงาน หรือตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะหนึ่ง ๆ นั้นในแต่ละครั้งนั้น อาจต้องใช้ภาพจำนวนมากในการเปรียบเทียบวิเคราะห์ เช่น การถ่ายภาพหัวใจด้วยเครื่อง MRI จำเป็นต้องถ่ายภาพตลอดระยะเวลาการเต้นของหัวใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจได้ภาพออกมาเป็นจำนวนร้อย ๆ ภาพ เป็นต้น ดังนั้น ในการทำงานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับภาพถ่ายจำนวนมากเหล่านี้ จึงทำให้ต้องเสียเวลาและใช้แรงงานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างมากเกินจำเป็น อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญเองอาจเกิดอาการล้าได้ หากจำเป็นต้องวิเคราะห์ภาพเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้มีการนำการประมวลผลภาพด้วยคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นศาสตร์ใหม่ เรียกว่า การประมวลผลภาพทางการแพทย์ (Medical Image Processing) เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์ภาพจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้นด้วย


การประมวลผลภาพทางการแพทย์ เป็นการนำเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ของการประมวลผลภาพ มาใช้กับภาพทางการแพทย์ โดยการเลือกใช้เทคนิคต่าง ๆ กับภาพทางการแพทย์นี้ จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์นั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพท์ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ภาพเหล่านั้นได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเทคนิคของการประมวลผลภาพมีมากมายหลายวิธีการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์มักจะใช้หลาย ๆ วิธีการร่วมกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์นั้น ๆ เทคนิคของการประมวลผลภาพที่สำคัญ ๆ ในการจัดการกับภาพทางการแพทย์ มีดังตัวอย่างต่อไปนี้
การแบ่งส่วนภาพ (Image Segmentation) เป็นวิธีการแบ่งส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพที่เราสนใจออกมาจากภาพที่เราต้องการ ซึ่งการแบ่งส่วนภาพนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นขั้นตอนเบื้องต้นและสำคัญอย่างมากของการประมวลผลภาพทางการแพทย์ เนื่องจากภาพทางการแพทย์ที่ได้จากเครื่องถ่ายภาพแบบต่าง ๆ นั้น โดยปกติมักจะมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับอวัยวะที่ทำถ่ายภาพมา เช่น เนื้อเยื่อ กระดูก อวัยวะข้างเคียง หรือแม้กระทั่งสัญญาณรบกวน (Noise) ที่ขึ้นในขณะถ่ายภาพ ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์เฉพาะอวัยวะที่ต้องการ จึงจำเป็นต้องใช้การแบ่งส่วนภาพมาทำหน้าที่ตัดแยกส่วนที่เราต้องการออกมา ตัวอย่างเช่น การแบ่งส่วนเนื้อสมองจากภาพสมอง การแบ่งส่วนภาพหัวใจห้องล่างซ้ายจากภาพหัวใจ MRI การแบ่งส่วนเฉพาะเส้นโลหิต การแบ่งส่วนข้อกระดูกสันหลังจากภาพลำกระดูกสันหลัง หรือ การแบ่งส่วนของทารกจากภาพอัลตราซาวด์ เป็นต้น การแบ่งส่วนภาพทางการแพทย์มีทั้งการแบ่งส่วนภาพแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ขึ้นอยู่ความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของการนำไปวิเคราะห์ โดยวิธีการแบ่งส่วนภาพที่กำลังได้รับความนิยมในงานวิจัยเกี่ยวกับภาพทางการแพทย์ ได้แก่ แอ็กทิฟคอนทัวร์ (Active Contour) และ แอ็กทิฟเซอร์เฟส (Active Surface) เป็นต้น
การซ้อนทับภาพ (Image Registration)
เป็นวิธีการนำข้อมูลของสองภาพหรือมากกว่า มารวมกันเพื่อให้เกิดภาพใหม่ที่มีข้อมูลภาพสมบูรณ์มากขึ้น โดยภาพใหม่ที่ได้นี้ จะเป็นการรวมตัวกันของข้อมูลหรือรายละเอียดในแต่ละภาพที่นำมาผสานกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดและข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการนำไปใช้งาน หรือการนำภาพไปวิเคราะห์ โดยส่วนใหญ่แล้วภาพที่จะนำมาซ้อนทับกันนั้น อาจเป็นภาพถ่ายของอวัยวะเดียวกัน ที่ถ่ายต่างเวลากัน ต่างมุมมองกัน หรือ ใช้เทคนิคในการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน เป็นต้น และการนำวิธีการซ้อนทับภาพมาใช้กับภาพทางการแพทย์ มีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น การตรวจ ติดตาม หรือหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ทำได้โดยการนำภาพถ่ายของอวัยวะที่ต้องการตรวจ ที่ได้ถ่ายไว้ในอดีต มาทำการซ้อนทับกับภาพถ่ายของอวัยวะเดียวกันที่ถ่ายไว้ในปัจจุบัน โดยทำให้ตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ ของทั้งสองภาพตรงกัน ซึ่งการทำในลักษณะนี้ จะทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของอวัยวะนั้น ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในช่วงเวลานั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไรต่อไป มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ มีอวัยวะที่โตขึ้นผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น การนำภาพทางการแพทย์ที่ใช้เทคนิคในการถ่ายภาพแตกต่างกัน มาทำการซ้อนทับภาพ เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ของวิธีการนี้ เนื่องจากภาพทางการแพทย์ที่ถ่ายโดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพเพียงแบบเดียว อาจจะทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ต้องการ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคการถ่ายภาพหลาย ๆ แบบ เพื่อให้ได้ข้อมูล รายละเอียดของอวัยวะ หรือองค์ประกอบรอบข้างอื่น ๆ ของอวัยวะนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำภาพไปวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น การนำภาพสมองที่ถ่ายด้วยเครื่อง CT ซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นกระดูก มาซ้อนทับกับภาพสมองที่ถ่ายด้วยเครื่อง MRI ซึ่งให้รายละเอียดของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในสมองได้ดีกว่าภาพที่ถ่ายด้วยเครื่อง CT และเห็นได้ว่า ภาพใหม่ที่ได้จากการซ้อนทับของข้อมูลจากภาพทั้งสองนี้ จะมีรายละเอียดขององค์ประกอบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น คือ มีทั้งส่วนที่เป็นกะโหลกศีรษะและรายละเอียดของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในสมอง จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ภาพใหม่นี้เพียงภาพเดียวได้ โดยไม่ต้องพิจารณาภาพทั้งสองแยกกัน

การสร้างภาพ 3 มิติ (3D Image Reconstruction)
การวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์โดยใช้ภาพ 3 มิติ กำลังได้รับความต้องการอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากภาพ 3 มิติ สามารถแสดงให้เห็นถึงภาพรวมหรือรายละเอียดในมุมมองต่าง ๆ ของอวัยวะได้ จึงมีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ โดยอวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่ได้มีการวิเคราะห์ในรูปแบบ 3 มิติ ตัวอย่างเช่น สมอง หัวใจ กระดูก ฟัน และขากรรไกร เป็นต้น
ภาพ 3 มิติสำหรับภาพทางการแพทย์นั้น มักสร้างมาจากภาพ 2 มิติหลาย ๆ ภาพ ทำได้โดยการนำภาพเหล่านั้น มาผ่านกระบวนการประมวลผลภาพ เช่น การแบ่งส่วนภาพ เป็นต้น เพื่อให้ได้รายละเอียด ส่วนประกอบต่าง ๆ หรือข้อมูลที่จำเป็นของอวัยวะที่ต้องการ จากนั้น นำมาประกอบกันเพื่อขึ้นรูปเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งภาพ 3 มิติที่ได้นี้ จะมีลักษณะหรือรูปร่างที่เหมือนกับอวัยวะจริงเพียงใด ขึ้นอยู่กับข้อมูลของภาพ 2 มิติที่นำมาประมวลผล ถ้าภาพ 2 มิติที่ได้จากเครื่องถ่ายภาพมีภาพจำนวนมากเพียงพอ ถ่ายในทุกส่วนสัดอย่างละเอียด หรือ ได้ถ่ายไว้ในหลายมุมมอง ก็ยิ่งทำให้ภาพ 3 มิติที่ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

ข้อดีของภาพ 3 มิติ คือ สามารถพิจารณาในลักษณะของปริมาตรหรือขนาดได้ ทำให้สามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะได้ โดยดูจากขนาดที่เห็น หรือดูจากค่าที่คำนวณออกมาเป็นตัวเลข เช่น ปริมาตร หรือค่าความบ่งชี้ต่าง ๆ ทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ว่าอวัยวะนั้น ๆ มีขนาดที่ใหญ่หรือเล็กผิดปกติหรือไม่ ตัวอย่างการนำภาพ 3 มิติมาช่วยงานในด้านการวางแผนการรักษา เช่น การวางแผนการฝังรากฟันเทียม ทำได้โดยการจัดการวางแผนกับภาพฟัน 3 มิติในคอมพิวเตอร์ ที่สร้างมาจากภาพฟันและขากรรไกร 2 มิติของผู้ป่วย หรือการวางแผนการจัดฟัน ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเห็นลักษณะฟันของตนเอง ก่อนและหลังการจัดฟันได้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าจะเข้ารับการรักษาหรือไม่ และ ในด้านการวางแผนการผ่าตัดฝังวัสดุในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนและจัดการฝังวัสดุได้อย่างมีความถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การประมวลผลภาพทางการแพทย์ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเข้ามาทำหน้าที่หลักแทนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่เข้ามาทำหน้าที่เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกหรือเป็นผู้ช่วยในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ภาพเหล่านั้นได้สะดวกและ รวดเร็วขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในวิเคราะห์ให้ดีขึ้น ปัจจุบันยังมีความจำเป็นและต้องการผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคนิคการประมวลผลภาพทางการแพทย์อีกมาก ทั้งนี้ ผู้ที่พัฒนากระบวนการประมวลผลภาพทางการแพทย์นี้ นอกจากจะต้องรู้วิธีการสั่งงานคอมพิวเตอร์ได้แล้ว ยังต้องเข้าใจความสามารถในการวิเคราะห์ภาพของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ อีกด้วย เพื่อจะสามารถผสมผสานศาสตร์ทั้งสองนั้น และนำมาพัฒนาศักยภาพในการประมวลผลภาพได้สูงขึ้น

ตัวอย่างการนำการประมวลผลสัญญาณดิจิตอลไปใช้งานด้านต่างๆ


ข้อดี-ข้อเสียของการประมวลผลดิจิตอล

จากที่ ได้ยกตัวอย่างการใช้งานของ การประมวลผลสัญญาณดิจิตอล มาทั้งหมดนั้น ก็คงพอจะทำให้ได้ทราบถึง แนวทางการประยุกต์ใช้งาน การประมวลผลสัญญาณดิจิตอล ในงานด้านต่างๆ เช่น ทางการทหาร การแพทย์ บันเทิง หรือ การสื่อสารโทรคมนาคม และ อื่นๆ ความนิยมในการใช้ การประมวลผลสัญญาณดิจิตอล ที่เพิ่มมากขึ้น ก็เนื่องมาจากการ ข้อได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างวงจรด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทฤษฎีการประมวลผลสัญญาณดิจิตอลที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยตัวของมันเอง มิใช่เพื่อเป็นการประมาณค่าการประมวลผลสัญญาณทางอนาลอก และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้การประยุกต์ใช้งาน การประมวลผลสามารถทำได้ในรูปแบบที่หลากหลายและ มีประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

เอกสารอ้างอิง
1. http://ce.thainichi.net/index.php/articles/technology-reviews/51-image-processing-
2
http://www.tedmontgomery.com/the_eye/
3 http://www.codeproject.com/KB/GDI-plus/csharpfilters.aspx
4. http://www.eegrad.mut.ac.th/home/peerapol/article.htm
5. Denise Chiavetta, Top 12 Areas for Technology Innovation through 2025, Changer Waves, November
20, 2007, available online at changewaves.socialtechnologies.com/home/2007/11/20/top-12-areas-for-
technology-innovation-through-2025.html